วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อาหารสำรับในท้องถิ่นต่างๆ

อาหารสำรับในท้องถิ่นต่างๆ
อาหารสำรับในท้องถิ่นภาคเหนือ โดยทั่วไปจะรับประทานข้าวเหนียวคู่กันกับข้าวที่มีลักษณะแห้งๆ เช่น แกงที่มีน้ำขลุกขลิก หรือน้ำพริก สำหรับอาหารที่เป็นกับข้าวของภาคเหนือแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
1.  อาหารประเภทแกง แกงของภาคเหนือมีทั้งที่ใส่และไม่ใส่เครื่องแกง แต่ไม่นิยมใส่กะทิ แกงที่ใส่เครื่องแกง เช่น แกงแค แกงฮังเล แกงโฮะ แกงอ่อม แกงที่ไม่ใส่เครื่องแกง เช่น แกงผักจอ
2.  อาหารประเภทยำและพล่า เป็นอาหารที่มีส่วนประกอบ ได้แก่ พริกแห้ง หอม กระเทียม กะปิ ข่า ลูกผักชี และรากผักชี นำมาโขลกให้ละเอียด แล้วคลุกเคล้ากับผักหรือเนื้อสัตว์ที่ทำให้สุกและปรุงรสด้วยน้ำปลา เกลือ มะนาว เช่น ตำขนุน ลาบ หลู้
                      * หลู้ เป็นอาหารที่นิยมรับประทานเป็นกับแกล้มหรือเรียกว่า ลาบดิบ มีวิธีการทำคือ นำเลือดหมูสดมาผสมกับใบตะไคร้จนหมดกลิ่นคาว ผสมเครื่องปรุงรสสำหรับทำลาบ ใส่เนื้อสัตว์ดิบ คนให้เข้ากัน โรยหน้าด้วยแคบหมู หอมเจียว หรือกระเทียมเจียว
3.  อาหารประเภทเครื่องจิ้ม เป็นอาหารประเภทน้ำพริก ซึ่งมีลักษณะแห้งๆ แบ่งออกเป็นน้ำพริกที่ตำเครื่องรวมกัน แล้วปรุงรส เช่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกตาแดง น้ำพริกปู น้ำพริกปลาร้า และน้ำพริกผัดที่ตำเครื่องปรุงรวมกันแล้วนำไปผัดให้สุก เช่น น้ำพริกอ่อง


4.  อาหารประเภทผัด แบ่งออกเป็น ผัดที่ไม่เผ็ด เช่น ผัดแหนมใส่วุ้นเส้น ผัดยอดฟักทองใส่ไข่ และผัดที่มีรสเผ็ด เช่น คั่วต้มหมู คั่วแค ผัดหน่อไม้สด ผัดเผ็ดปลา
5.  อาหารประเภทปิ้ง ย่าง ได้แก่ ไส้อั่ว งบ และห่อหมก เช่น งบหมู งบปลา งบกุ้ง ห่อหมกไก่
6.  อาหารประเภทเครื่องเคียงหรือของแนม เช่น แคบหมู จิ้นเกลือ (เนื้อเค็มแผ่นบางสีแดงรมควันจนหอม) นำมารับประทานคู่กับน้ำพริกหรือแกง จิ้นฮุ่มชนิดไม่เผ็ด นำมารับประทานคู่กับน้ำพริก
7.  อาหารหวาน อาหารหวานหรือขนมของภาคเหนือ เช่น ข้าวแคบ (ข้าวเกรียบว่าน) ข้าวแต๋น (นางเล็ด) ข้าวต้มมัด ขนมจ๊อก (ขนมเทียน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น