วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อาหารสำรับในท้องถิ่นภาคใต้

อาหารสำรับในท้องถิ่นภาคใต้ ส่วนใหญ่จะมีรสเผ็ดจัด โดยทั่วไปรับประทานข้าวเป็นอาหารหลักพร้อมกับกับข้าวต่างๆ ซึ่งแบ่งเป็นประเภทดังนี้
1.  อาหารประเภทแกง แกงของภาคใต้มีชื่อเรียกตามเครื่องปรุงและวิธีการประกอบอาหาร เช่น แกงเผ็ด แกงหอยแครงกับใบชะพลู แกงเหลือง แกงไตปลา หมูต้มตะลิงปลิง ปลาต้มขมิ้น

2.  อาหารประเภทยำและพล่า เป็นอาหารที่คล้ายคลึงกับอาหารท้องถิ่นภาคกลาง แต่อาจมีเครื่องปรุงรสที่แตกต่างกันบ้างตามวัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น ยำลูดมุด ยำมะม่วงเมา ยำใบบัวบก พล่าเนื้อสด พล่ากุ้ง
3.  อาหารประเภทเครื่องจิ้ม แบ่งออกเป็นประเภทดังนี้
                      1)  น้ำพริก เป็นอาหารที่ประกอบด้วยเครื่องปรุงหลัก คือ กะปิ เช่น น้ำพริกลูกโจรหรือน้ำพริกขยำ น้ำพริกกะปิกุ้งเสียบ โดยใช้มะนาวปรุงรสให้เปรี้ยวหรือใช้ผักชนิดอื่นที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้มจี๊ด ตะลิงปลิง
                      2)  หลน มีวิธีการทำคล้ายอาหารท้องถิ่นภาคกลาง เช่น บูดูหลน จิ้งจังหลน
                      3)  เครื่องจิ้มทั่วไป เช่น แกงพุงปลา
4.  อาหารประเภทผัด แบ่งออกเป็นประเภทดังนี้
                      1)  ผัดที่มีรสเผ็ด จะนำน้ำพริกแกงเผ็ดหรือแกงอื่นๆ มาผัดกับเนื้อสัตว์ เช่น คั่วกลิ้ง ผัดเครื่องร้อย เป็นผัดเผ็ดที่ใส่เครื่องเทศหลายชนิด เพื่อดับกลิ่นคาว
                      2)  ผัดที่ไม่มีรสเผ็ด มีทั้งผัดกับเนื้อสัตว์และผัดผักล้วน เช่น ผัดกะแป๊ก ผัดผักหนาม ผัดผักกูด ผัดเปรี้ยวหวานสะตอ สะตอผัดกุ้ง สะตอผัดกะทิ
5.  อาหารประเภทเครื่องเคียงหรือของแนม ได้แก่ ปลาเค็ม เช่น ปลามูรา ปลาชิ้งชั้ง ปลาข้างเหลือง ปลาอินทรี ไข่ปลา เช่น ไข่ปลากระบอก ไข่ปลาหมึก และหอย เช่น หอยแมลงภู่แห้ง หอยหลอด
6.  อาหารหวาน ส่วนใหญ่เป็นขนม เช่น ขนมโค ขนมเมล็ดข้าว ขนมไข่ปลา ขนมลา ขนมปุยหิมะ ทุเรียนกวน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น