อาชีพเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
และการดำรงชีวิตก็ต้องอาศัยปัจจัย 4 ซึ่งประกอบด้วยอาหาร
ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค
ในอดีตครอบครัวและชุมชนสามารถผลิตปัจจัย 4 ใช้ได้เอง
โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงิน เพื่อให้ได้มาในสิ่งเหล่านี้ แต่ในสังคมไทยปัจจุบันการดำรงชีวิตดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไป
การพึ่งตนเองในครอบครัวและชุมชนมีน้อยลง ปัจจัยต่างๆ ที่ได้มาต้องใช้เงินทั้งสิ้น
เมื่อเงินเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิต และสร้างมาตรฐานให้แก่ชีวิต
จึงจำเป็นต้องมีอาชีพเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งสามารถสรุปความสำคัญได้ดังนี้
1.1 ตนเอง
การมีอาชีพทำให้บุคคลมีคุณค่า
และรู้คุณค่าของการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพรู้คุณค่าของเงิน
เป็นผลทำให้เกิดการปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินอย่างประหยัดและใช้จ่ายในสิ่งที่เป็นประโยชน์
รวมทั้งการรู้จักวางแผนการใช้เงินและเก็บออมเงินเพื่อความมั่นคงของชีวิตและสร้างอนาคตที่สดใส
จากประสบการณ์อาชีพตั้งแต่เยาว์วัยจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ การพัฒนาและนำไปสู่ความสำเร็จในอาชีพ
1.2 ครอบครัว
เมื่อบุคคลมีอาชีพจะช่วยสร้างคุณค่าให้กับตนเองและในสายตาของสมาชิกในครอบครัว
นอกจากนี้ยังเป็นตัวอย่างของบุคคลอื่นๆ ในครอบครัวให้ปฏิบัติตาม
รายได้จากอาชีพในฐานะลูกจ้างหรือเจ้าของกิจการจะช่วยทำให้เศรษฐกิจและมาตรฐานการดำรงชีวิตของครอบครัวดีขึ้น
ทำให้ทุกคนอยู่ดีกินดี รวมทั้งความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ถ้าสามารถเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการได้ ก็จะช่วยสร้างงานให้แก่ครอบครัว
อาจเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมขนาดเล็ก
ทำให้สมาชิกในครอบครัวเกิดความร่วมมือ และทำให้ทุกคนมีงานทำ มีหน้าที่รับผิดชอบ
และมีจิตสำนึกความเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน
1.3
ชุมชน
ถ้าในแต่ละครอบครัวภายในชุมชนมีงานทำ
มีอาชีพที่สามารถสร้างรายได้อาจเป็น
ลูกจ้างหรือเจ้าของกิจการ ส่งผลให้เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น ถ้าชุมชนมีสถานประกอบการจำนวนมาก
จะเป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชุมชน โดยมีการจ้างงาน และใช้ทรัพยากรใน ชุมชนเพิ่มมากขึ้น
ทำให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และมีเงินทุนหมุนเวียนภายในชุมชน
เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและมาตรฐานของชุมชนให้ดีขึ้น ทำให้ชุมชนเข้มแข็งที่สามารถพึ่งตนเองได้
1.4
ประเทศ
ถ้าชุมชนมีความเข้มแข็ง
มีอาชีพ และมีรายได้อย่างสม่ำเสมอ สามารถพึ่งตนเองได้
รวมทั้งการพัฒนาแหล่งทรัพยากรต่างๆ ในชุมชน จะทำให้ภาพรวมของประเทศดีขึ้น
ทั้งในระดับภูมิภาค ท้องถิ่น และภาพรวมระดับประเทศ
ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาในส่วนย่อยทั้งระดับครอบครัว ชุมชน และภูมิภาค
ทำให้รายได้ภาษีอากรที่รัฐบาลได้รับเพิ่มขึ้น
งบประมาณของรัฐที่จะต้องนำไปใช้พัฒนาสาธารณูปโภคให้แก่ชนบทก็น้อยลง
เนื่องจากชุมชนมีศักยภาพ ในการพัฒนา ตนเอง
และร่วมรับผิดชอบท้องถิ่นตนเอง ดังนั้น
รายได้ของรัฐบาลทั้งหมดก็จะนำไปพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ให้ได้มาตรฐานสากล
สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
2. การเลือกอาชีพ
อาชีพมีหลายประเภท
และมีลักษณะตามธรรมชาติของอาชีพที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงควรศึกษารายละเอียดและแง่มุมต่างๆ
ของแต่ละอาชีพ เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาเลือกให้เหมาะสมกับตนเอง
จึงจะทำให้การประกอบอาชีพประสบผลสำเร็จ โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้
2.1
ความสนใจ ความถนัดของตนเอง
โดยการสำรวจความถนัด
ความสนใจ ตลอดทั้งประสบการณ์ด้านอาชีพต่างๆ
เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ว่าอาชีพใดที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด
และเป็นแนวทางการเลือกอาชีพที่เหมาะสม
2.2
แนวโน้มด้านอาชีพ
ศึกษาอาชีพในปัจจุบันและอาชีพที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต
ว่าจะเป็นอาชีพที่เจริญรุ่งเรือง
และเป็นที่ต้องการของสังคม ซึ่งมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านอุตสาหกรรมที่เป็นหลักอยู่ 3 ด้านคือ
2.2.1 ด้านสื่อสารหรือโทรคมนาคม
2.2.2 ด้านอิเล็กทรอนิกส์
2.2.3 ด้านระบบควบคุมอัตโนมัติ
จากข้อมูลดังกล่าวสามารถบอกได้ว่า
อาชีพที่จะเกิดขึ้นใหม่น่าจะเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่
เนื่องจากการพัฒนาที่เน้นด้านเทคโนโลยีเพื่อการแข่งขันกับตลาดโลก
2.3
ทรัพยากรท้องถิ่น
จะช่วยประหยัดต้นทุนและค่าใช้จ่าย
ตลอดทั้งการสร้างงานให้คนในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรที่ไม่เป็นประโยชน์ ให้นำมาใช้เป็นวัตถุดิบ
หรือการศึกษาทดลอง การนำวัสดุชนิดอื่นๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ยังมีเศษวัสดุหรือวัสดุเหลือใช้ที่เป็นปัญหาด้านการกำจัดและมลภาวะก็สามารถนำมาปรับปรุงดัดแปลงเป็นแนวทางในการสร้างอาชีพได้เช่นกัน
2.4
วิสัยทัศน์
เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเลือกอาชีพ
คนที่มีความคิดกว้างไกลและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์จะได้เปรียบในเชิงธุรกิจมากกว่าคนอื่น
เพราะการเริ่มต้นในสิ่งที่ยังไม่มีใครทำเป็นคนแรก ถึงแม้จะเป็นการเสี่ยง
แต่อยู่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ในการตัดสินใจ
ก็จะมีส่วนช่วยเหลือให้การประกอบการนั้นสำเร็จได้ตามเป้าหมาย
2.5
ทักษะในการประกอบการด้านอาชีพ
หากเป็นลูกจ้างก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ต้องมีทักษะหรือความชำนาญ ถ้าเป็นเจ้าของกิจการอาจต้องมีความรอบรู้งาน
และมีทักษะบางอย่างตามความเหมาะสม ก็จะสามารถแก้ปัญหาต่างๆ และหาหนทางออกได้
ถ้าเจ้าของกิจการมีความรู้ความเชี่ยวชาญ
ก็จะยิ่งเป็นการพัฒนาในการประกอบธุรกิจให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น
3.
ลักษณะอาชีพ
อาชีพที่มีอยู่ในปัจจุบัน
โดยทั่วไปแล้วเป็นอาชีพที่พบอย่างแพร่หลาย และเป็นอาชีพสุจริต
เป็นที่ยอมรับของสังคม ก่อให้เกิดรายได้ในการดำรงชีพของตนเองและครอบครัว ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้
3.1
อาชีพส่วนตัว
อาชีพส่วนตัวเป็นอาชีพที่ผู้ริเริ่มเป็นเจ้าของกิจการ
ทำการบริหารกิจการด้วยตนเอง อาจเป็นกิจการขนาดเล็กในลักษณะอุตสาหกรรมภายในครอบครัว
หรือเป็นกิจการ ขนาดใหญ่ตามสภาพกำลัง
ความสามารถ ทรัพยากรและเงินทุน ซึ่งอาชีพประเภทนี้
ผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการจะต้องมีความตั้งใจ ทุ่มเททั้งด้านกำลังกาย กำลังใจ
และมีความมุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ในการทำงาน ฟันฝ่าอุปสรรคทุกประการ
ให้ผ่านพ้นและลุล่วงไปด้วยดี ในระยะแรกที่เริ่มต้นอาจจะต้องใช้ความพยายามอย่างสูง
เพื่อให้กิจการดำเนินไปตามจุดประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ ถ้าเมื่อใดกิจการได้ดำเนินไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ตั้งไว้
ภาวะความกดดันต่างๆ ก็จะค่อยๆ หมดไปในที่สุด
ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง
แต่ในทางตรงกันข้ามมีคนจำนวนไม่น้อยที่ประสบความล้มเหลวในการประกอบอาชีพส่วนตัว
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ
ที่เอื้อต่อความสำเร็จตามสภาพและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของแต่ละบุคคล
นอกจากนี้อาชีพส่วนตัวยังสามารถแบ่งออกไปได้อีกเป็น
2 ประเภท
ดังนี้
3.1.1 อาชีพส่วนตัวด้านการผลิต
ผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการต้องมีกระบวนการหรือขั้นตอนการผลิตหรือแปรรูปผลผลิตจนเป็นสินค้าที่นำไปจำหน่ายในท้องตลาดได้
อาจเป็นลักษณะการขายปลีก หรือขายส่ง เช่น ขนมไทย เบเกอรี่ สวนผัก สวนผลไม้
เลี้ยงกุ้ง และอาหารกระป๋อง ฯลฯ
3.1.2 อาชีพส่วนตัวด้านการให้บริการ
เป็นอาชีพที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
เนื่องจากสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิต ทำให้คนมีเวลาน้อยลง จึงจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัย
เทคโนโลยีและการบริโภคซึ่งสิ่งต่างๆ
เหล่านี้มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของคน
และเมื่อนำงานบริการมาเปรียบเทียบกับงานอาชีพด้านอื่นๆ
จะมีความเสี่ยงและการลงทุนค่อนข้างน้อย ยกเว้นงานบริการที่เกี่ยวกับความบันเทิงต่างๆ
ซึ่งเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย อาชีพที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการและรู้จักกันอย่างแพร่หลาย เช่น
บริการทำความสะอาด บริการซักรีดเสื้อผ้า บริการล้างรถยนต์ ซ่อมประปา ไฟฟ้า
ซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า และซ่อมรถยนต์ ฯลฯ
3.2
อาชีพลูกจ้าง
ลูกจ้างเป็นลักษณะการประกอบอาชีพ
โดยไม่ได้เป็นผู้ประกอบการหรือเป็นเจ้าของกิจการและต้องทำงานตามที่นายจ้างมอบหมาย
อาจได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน อาหาร ที่พักอาศัย
และสิ่งจำเป็นอื่นๆ
คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยมีอาชีพเป็นลูกจ้าง
เนื่องจากข้อจำกัดในการเป็นลูกจ้างต้องมีความรับผิดชอบในระดับหนึ่งเท่านั้น และอยู่ในวงจำกัด
ไม่ต้องเสี่ยงกับผลกำไร-ขาดทุน
ซึ่งอาจทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ในบริษัท ห้างร้าน
โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เป็นต้น อาจเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือการให้บริการ
เป็นงานที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่ หรือมีโครงสร้างขนาดเล็ก เช่น งานก่อสร้าง
งานผู้ช่วยพ่อครัว แม่ครัว และพนักงานบริษัทต่างๆ เป็นต้น
3.3
อาชีพข้าราชการ
ข้าราชการเป็นอาชีพที่ให้บริการแก่ประชาชน
และมีหน้าที่ในการพัฒนาประเทศทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง
และการป้องกันราชอาณาจักรให้รอดพ้นจากการรุกรานของต่างประเทศ และผลตอบแทนที่ได้รับก็คือ เงินภาษีของประชาชน
ลักษณะงานของข้าราชการมีเวลาในการทำงานที่แน่นอน
และมีวันหยุดราชการตามกำหนด มีการกำหนดอัตราเงินเดือนแต่ละระดับชั้นอย่างชัดเจน
การเลื่อนระดับชั้นขึ้นอยู่ที่ความสามารถของแต่ละบุคคล แต่ละหน่วยงานจะมีระบบการบริหารงานแตกต่างกันไป
อาจจะแบ่งเป็นหน่วยย่อยๆ เพื่อให้สะดวกในการบริหารจัดการ
และมีผู้ดูแลเป็นหัวหน้าในแต่ละหน่วยย่อย
เพื่อให้ควบคุมประสิทธิภาพการทำงาน และผลงานได้อย่างทั่วถึง โดยมุ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
ยกตัวอย่าง ครู
อาจารย์ มีบทบาทหน้าที่ในการอบรมสั่งสอน และให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน
เพื่อให้เป็นคนดี มีความรู้ ความสามารถ และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ไม่ก่อปัญหาให้แก่สังคม
ส่วนอาชีพทหารและตำรวจ มีหน้าที่ในการปกป้องประเทศชาติ และดูแลทุกข์สุขของประชาชน
ให้ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อาชีพแพทย์ พยาบาล มีบทบาท
หน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคต่างๆ และช่วยเหลือตนเองได้ เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น