การจัดอาหารสำรับหวาน
การจัดอาหารสำรับหวานเป็นการจัดขนมไทยเพื่อให้ดูสวยงามและน่ารับประทาน
ซึ่งเหมาะสำหรับงานทำบุญตามประเพณี งานเลี้ยงในโอกาสพิเศษ และสำหรับถวายพระ
การจัดขนมไทย มีวิธีการดังต่อไปนี้
1. ขนมที่ห่อด้วยใบตอง เช่น ขนมใส่ไส้ ข้าวต้มมัด
ข้าวเหนียวสังขยา ควรแยกชนิดของขนม แล้วจัดเรียงใส่จานหรือถาดให้เป็นระเบียบและสวยงาม
2. ขนมไทยที่มีน้ำ เช่น บัวลอย ทับทิมกรอบ
ข้าวเหนียวถั่วดำ ควรจัดใส่ถ้วยที่มีลวดลายสวยงามหรือถ้วยแก้วใสก้นลึก
มีจานรองเพื่อให้มองเห็นสีของขนมได้ชัดเจน
3. ขนมไทยที่ใช้จัดเลี้ยงแขกจำนวนมาก
ควรจัดวางเป็นกลุ่มในถาดกลมหรือถาดสี่เหลี่ยม
การจัดขนมไทยให้น่ารับประทาน
ขนมไทยที่นิยมใช้ในพิธีมงคล มี 9 อย่างดังนี้
1. ขนมทองหยิบ
มีลักษณะสวยงามเหมือนกลีบดอกไม้สีทอง หมายถึง ความมั่งคั่ง ร่ำรวย มีเงินมีทองใช้
2. ขนมทองหยอด
มีลักษณะเหมือนหยดน้ำสีทอง หมายถึง ความร่ำรวย มีเงินมีทองใช้จ่ายไม่รู้จักหมดสิ้น
3. ขนมฝอยทอง
มีลักษณะเป็นเส้น นิยมใช้ในงานมงคลสมรส
มีความหมายให้คู่บ่าวสาวได้ครองชีวิตคู่ยืนยาวตลอดไป
ขนมไทยที่นิยมใช้ในพิธีมงคล
4. ขนมทองเอก
มีลักษณะสวยงามและโดดเด่น ใช้แทนคำอวยพรที่แสดงถึงความเป็นที่หนึ่ง ไม่เป็นรองใคร
5. ขนมเม็ดขนุน
มีสีเหลืองทอง รูปร่างคล้ายเม็ดขนุน หมายถึง
ให้มีคนสนับสนุนในการดำเนินชีวิตและการทำงาน
6. ขนมจ่ามงกุฎ
มีลักษณะคล้ายมงกุฎ หมายถึง ความมีเกียรติและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
7. ขนมเสน่ห์จันทน์
มีลักษณะคล้ายผลจันทน์ มีกลิ่นหอม หมายถึง ความมีเสน่ห์ ทำให้มีคนหลง และมีคนรัก
8. ขนมชั้น มีลักษณะเป็นชั้น
9 ชั้น หมายถึง ความเจริญก้าวหน้า
9. ขนมถ้วยฟู
มีลักษณะเป็นแป้งฟู มีกลิ่นหอม หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง เฟื่องฟู
การจัดอาหารสำรับหวานในโอกาสต่างๆ เป็นการจัดขนมไทยในงานต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. งานมงคลสมรส
นิยมใช้ขนมไทยที่มีชื่อและมีความหมายที่เป็นสิริมงคลสำหรับคู่บ่าวสาว เช่น
ขนมทองหยิบ ขนมทองหยอด ขนมทองเอก ขนมเม็ดขนุน ขนมฝอยทอง ขนมถ้วยฟู ขนมเสน่ห์จันทน์
โดยแยกประเภท นำมาจัดเรียงใส่ถาดหรือพานที่รองด้วยใบตองเย็บเป็นกลีบดอกไม้
2. งานทำบุญเลี้ยงพระ
นิยมใช้ขนมไทยตระกูลทอง เช่น ขนมทองหยิบ ขนมทองหยอด ขนมทองเอก ขนมฝอยทอง ขนมชั้น
ขนมถ้วยฟู โดยจัดเรียงวางในจานให้เหมาะสม
การจัดขนมไทยในงานต่างๆ
ด้วยความสวยงาม
3. งานเทศกาลสงกรานต์
นิยมใช้ขนมข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวแก้ว และกะละแม ตัดเป็นชิ้นพอคำ
แล้วนำมาวางเรียงในจาน
4. งานเทศกาลออกพรรษา
นิยมใช้ขนมข้าวต้มมัดและข้าวต้มลูกโยน โดยจัดเรียงในถาดหรือจานให้สวยงาม
หรือแกะใบตองออกแล้วนำขนมใส่จาน
5. งานเทศกาลสารทไทยหรือสารทเดือนสิบ นิยมใช้ขนมกระยาสารท ขนมลา ขนมกง ขนมพอง ขนมสะบ้า
โดยจัดใส่จานหรือถ้วยขนาดเล็ก
6. พิธีบวงสรวงศาลพระภูมิ นิยมใช้ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ขนมเล็บมือนาง ขนมดอกจอก ขนมถั่วแปบ
ขนมข้าวเหนียวแดง และขนมแกงบวดต่างๆ โดยใส่จานหรือถ้วยขนาดเล็ก จัดวางในถาด
แล้วนำไปวางบนโต๊ะสำหรับบวงสรวงศาลพระภูมิ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น