อาหารสำรับในท้องถิ่นภาคกลาง โดยทั่วไปจะรับประทานข้าวเจ้ากับกับข้าวหลายอย่าง ซึ่งมีลักษณะดังนี้
1. อาหารประเภทแกง แกงของภาคกลางมีชื่อเรียกตามเครื่องปรุงและวิธีการประกอบอาหาร
เช่น แกงเขียวหวาน แกงพะแนง แกงมัสมั่น แกงส้ม แกงเลียง แกงป่า แกงต้มโคล้ง ต้มยำ
ต้มข่า ต้มจืด
2. อาหารประเภทยำและพล่า เป็นอาหารที่ประกอบด้วยเครื่องปรุงรสหลัก เรียกว่า
น้ำปรุงรสที่ประกอบด้วยน้ำปลา น้ำมะนาวหรือน้ำมะขามเปียก น้ำตาลทราย
และพริกขี้หนูซอยหรือทุบ นอกจากนี้อาจใช้น้ำปรุงรสที่มีส่วนผสมของน้ำพริกเผาหรือเครื่องพริกแกงคั่วด้วย
การทำยำจะนำเครื่องปรุงทุกอย่างทั้งเครื่องปรุงหลักและเครื่องปรุงรสมาคลุกเคล้าผสมกัน
แล้วตกแต่งด้วยผักชี หอมซอย ตะไคร้ซอย หรือสะระแหน่
สำหรับการทำพล่ามีวิธีการทำเช่นเดียวกับยำ
โดยนำเนื้อสัตว์ดิบ สุกๆ ดิบๆ หรือสุกมาผสมกับเครื่องปรุงรสคล้ายคลึงกับยำ
แต่มีรสเปรี้ยว เค็ม และเผ็ดจัด และจะดับกลิ่นคาวโดยใส่ตะไคร้ หอม และสะระแหน่
เช่น พล่าเนื้อสด กุ้งเต้น
3. อาหารประเภทเครื่องจิ้ม แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มดังนี้
1) น้ำพริก เป็นอาหารที่นำเครื่องปรุงต่างๆ
มาตำรวมกันหรือคลุกรวมกัน ปรุงให้ได้รสเปรี้ยว เค็ม เผ็ด (บางประเภทมีรสหวานด้วย)
นำมาตักใส่ถ้วยแก้วเสิร์ฟพร้อมผักสด ผักต้ม ผักดอง หรือผักชุบไข่ทอด เช่น
น้ำพริกกะปิ
2) น้ำพริกผัด
เป็นอาหารที่นำเนื้อสัตว์มาใช้เป็นเครื่องปรุง ต้องนำไปผัดให้สุกก่อนเสิร์ฟ
จะรับประทานคู่กับผักสด ผักต้ม ผักดอง หรือผักชุบแป้งทอด เช่น น้ำพริกมะขามผัด
3) หลน เป็นอาหารที่ประกอบด้วยเครื่องปรุง
เช่น เต้าเจี้ยว ปลาเค็ม ปลาร้า กุ้ง ปูเค็ม มาต้มกับกะทิ
แล้วใส่หอมซอยและพริกชี้ฟ้า ปรุงรสให้เค็ม เปรี้ยว และหวาน รับประทานคู่กับผักสด
4) เครื่องจิ้มทั่วไป เช่น น้ำปลาหวาน
แสร้งว่า หอยดองปรุง ปูเค็มคลุก ปลาร้าสับ
5) น้ำจิ้ม ใช้สำหรับเพิ่มรสชาติอาหารให้อร่อยมากขึ้น
เช่น น้ำจิ้มไก่ น้ำจิ้มทอดมัน
4. อาหารประเภทผัด เป็นการประกอบอาหารให้สุก
โดยใช้น้ำมันหรือกะทิเป็นส่วนประกอบในการผัด เช่น ผัดพริกแกง ผัดกระเพรา ผัดเผ็ด
ผัดผัก ผัดเปรี้ยวหวาน ผัดวุ้นเส้น
5. อาหารประเภทเครื่องเคียงหรือของแนม เช่น ปลาทูทอดและกุ้งเค็ม รับประทานคู่กับน้ำพริกกะปิ ปลาดุกย่าง
และกุ้งเผา รับประทานคู่กับน้ำปลาหวาน
6. อาหารหวาน เป็นของหวานหรือขนมที่รับประทานหลังอาหารคาว
หรือรับประทานเป็นของว่างระหว่างมื้ออาหาร ขนมส่วนใหญ่จะประกอบด้วยข้าว แป้ง ไข่
น้ำตาล มะพร้าว และแต่งกลิ่นแต่งสี ขนมหวานของภาคกลางมีหลายชนิด เช่น ทองหยิบ
ทองหยอด สังขยา ข้าวเหนียวแก้ว ข้าวต้มมัด ลูกชุบ กล้วยฉาบ ขนมถั่วแปบ ขนมไข่หงส์
ขนมชั้น ขนมจาก ขนมผิง ขนมกลีบลำดวน กระท้อนลอยแก้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น