วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การดำรงชีวิตและอาชีพ


1.  ความสำคัญของอาชีพ
          อาชีพเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และการดำรงชีวิตก็ต้องอาศัยปัจจัย 4 ซึ่งประกอบด้วยอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ในอดีตครอบครัวและชุมชนสามารถผลิตปัจจัย 4 ใช้ได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงิน เพื่อให้ได้มาในสิ่งเหล่านี้ แต่ในสังคมไทยปัจจุบันการดำรงชีวิตดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไป การพึ่งตนเองในครอบครัวและชุมชนมีน้อยลง ปัจจัยต่างๆ ที่ได้มาต้องใช้เงินทั้งสิ้น เมื่อเงินเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิต และสร้างมาตรฐานให้แก่ชีวิต จึงจำเป็นต้องมีอาชีพเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งสามารถสรุปความสำคัญได้ดังนี้
            1.1  ตนเอง
                 การมีอาชีพทำให้บุคคลมีคุณค่า และรู้คุณค่าของการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพรู้คุณค่าของเงิน เป็นผลทำให้เกิดการปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินอย่างประหยัดและใช้จ่ายในสิ่งที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งการรู้จักวางแผนการใช้เงินและเก็บออมเงินเพื่อความมั่นคงของชีวิตและสร้างอนาคตที่สดใส จากประสบการณ์อาชีพตั้งแต่เยาว์วัยจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ การพัฒนาและนำไปสู่ความสำเร็จในอาชีพ
1.2  ครอบครัว
                 เมื่อบุคคลมีอาชีพจะช่วยสร้างคุณค่าให้กับตนเองและในสายตาของสมาชิกในครอบครัว นอกจากนี้ยังเป็นตัวอย่างของบุคคลอื่นๆ ในครอบครัวให้ปฏิบัติตาม รายได้จากอาชีพในฐานะลูกจ้างหรือเจ้าของกิจการจะช่วยทำให้เศรษฐกิจและมาตรฐานการดำรงชีวิตของครอบครัวดีขึ้น ทำให้ทุกคนอยู่ดีกินดี รวมทั้งความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าสามารถเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการได้ ก็จะช่วยสร้างงานให้แก่ครอบครัว อาจเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมขนาดเล็ก ทำให้สมาชิกในครอบครัวเกิดความร่วมมือ และทำให้ทุกคนมีงานทำ มีหน้าที่รับผิดชอบ และมีจิตสำนึกความเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน
            1.3  ชุมชน
                 ถ้าในแต่ละครอบครัวภายในชุมชนมีงานทำ มีอาชีพที่สามารถสร้างรายได้อาจเป็น ลูกจ้างหรือเจ้าของกิจการ ส่งผลให้เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น ถ้าชุมชนมีสถานประกอบการจำนวนมาก จะเป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชุมชน โดยมีการจ้างงาน และใช้ทรัพยากรใน  ชุมชนเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และมีเงินทุนหมุนเวียนภายในชุมชน เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและมาตรฐานของชุมชนให้ดีขึ้น ทำให้ชุมชนเข้มแข็งที่สามารถพึ่งตนเองได้
            1.4  ประเทศ
                 ถ้าชุมชนมีความเข้มแข็ง มีอาชีพ และมีรายได้อย่างสม่ำเสมอ สามารถพึ่งตนเองได้ รวมทั้งการพัฒนาแหล่งทรัพยากรต่างๆ ในชุมชน จะทำให้ภาพรวมของประเทศดีขึ้น ทั้งในระดับภูมิภาค ท้องถิ่น และภาพรวมระดับประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาในส่วนย่อยทั้งระดับครอบครัว ชุมชน และภูมิภาค ทำให้รายได้ภาษีอากรที่รัฐบาลได้รับเพิ่มขึ้น งบประมาณของรัฐที่จะต้องนำไปใช้พัฒนาสาธารณูปโภคให้แก่ชนบทก็น้อยลง เนื่องจากชุมชนมีศักยภาพ ในการพัฒนา  ตนเอง และร่วมรับผิดชอบท้องถิ่นตนเอง ดังนั้น รายได้ของรัฐบาลทั้งหมดก็จะนำไปพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ให้ได้มาตรฐานสากล สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

2.  การเลือกอาชีพ
          อาชีพมีหลายประเภท และมีลักษณะตามธรรมชาติของอาชีพที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงควรศึกษารายละเอียดและแง่มุมต่างๆ ของแต่ละอาชีพ เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาเลือกให้เหมาะสมกับตนเอง จึงจะทำให้การประกอบอาชีพประสบผลสำเร็จ โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ  ดังต่อไปนี้
            2.1  ความสนใจ ความถนัดของตนเอง
                 โดยการสำรวจความถนัด ความสนใจ ตลอดทั้งประสบการณ์ด้านอาชีพต่างๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ว่าอาชีพใดที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด และเป็นแนวทางการเลือกอาชีพที่เหมาะสม
            2.2  แนวโน้มด้านอาชีพ
                 ศึกษาอาชีพในปัจจุบันและอาชีพที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ว่าจะเป็นอาชีพที่เจริญรุ่งเรือง และเป็นที่ต้องการของสังคม ซึ่งมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านอุตสาหกรรมที่เป็นหลักอยู่ 3 ด้านคือ
                 2.2.1  ด้านสื่อสารหรือโทรคมนาคม
                 2.2.2  ด้านอิเล็กทรอนิกส์
                 2.2.3  ด้านระบบควบคุมอัตโนมัติ
                 จากข้อมูลดังกล่าวสามารถบอกได้ว่า อาชีพที่จะเกิดขึ้นใหม่น่าจะเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากการพัฒนาที่เน้นด้านเทคโนโลยีเพื่อการแข่งขันกับตลาดโลก
            2.3  ทรัพยากรท้องถิ่น
                 จะช่วยประหยัดต้นทุนและค่าใช้จ่าย ตลอดทั้งการสร้างงานให้คนในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรที่ไม่เป็นประโยชน์ ให้นำมาใช้เป็นวัตถุดิบ หรือการศึกษาทดลอง การนำวัสดุชนิดอื่นๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีเศษวัสดุหรือวัสดุเหลือใช้ที่เป็นปัญหาด้านการกำจัดและมลภาวะก็สามารถนำมาปรับปรุงดัดแปลงเป็นแนวทางในการสร้างอาชีพได้เช่นกัน
            2.4  วิสัยทัศน์
                 เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเลือกอาชีพ คนที่มีความคิดกว้างไกลและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์จะได้เปรียบในเชิงธุรกิจมากกว่าคนอื่น เพราะการเริ่มต้นในสิ่งที่ยังไม่มีใครทำเป็นคนแรก ถึงแม้จะเป็นการเสี่ยง แต่อยู่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ในการตัดสินใจ ก็จะมีส่วนช่วยเหลือให้การประกอบการนั้นสำเร็จได้ตามเป้าหมาย
            2.5  ทักษะในการประกอบการด้านอาชีพ
                 หากเป็นลูกจ้างก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องมีทักษะหรือความชำนาญ ถ้าเป็นเจ้าของกิจการอาจต้องมีความรอบรู้งาน และมีทักษะบางอย่างตามความเหมาะสม ก็จะสามารถแก้ปัญหาต่างๆ และหาหนทางออกได้ ถ้าเจ้าของกิจการมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ก็จะยิ่งเป็นการพัฒนาในการประกอบธุรกิจให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น

3.  ลักษณะอาชีพ
          อาชีพที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยทั่วไปแล้วเป็นอาชีพที่พบอย่างแพร่หลาย และเป็นอาชีพสุจริต เป็นที่ยอมรับของสังคม ก่อให้เกิดรายได้ในการดำรงชีพของตนเองและครอบครัว ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้
            3.1  อาชีพส่วนตัว
                  อาชีพส่วนตัวเป็นอาชีพที่ผู้ริเริ่มเป็นเจ้าของกิจการ ทำการบริหารกิจการด้วยตนเอง อาจเป็นกิจการขนาดเล็กในลักษณะอุตสาหกรรมภายในครอบครัว หรือเป็นกิจการ  ขนาดใหญ่ตามสภาพกำลัง ความสามารถ ทรัพยากรและเงินทุน ซึ่งอาชีพประเภทนี้ ผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการจะต้องมีความตั้งใจ ทุ่มเททั้งด้านกำลังกาย กำลังใจ และมีความมุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ในการทำงาน ฟันฝ่าอุปสรรคทุกประการ ให้ผ่านพ้นและลุล่วงไปด้วยดี ในระยะแรกที่เริ่มต้นอาจจะต้องใช้ความพยายามอย่างสูง เพื่อให้กิจการดำเนินไปตามจุดประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ ถ้าเมื่อใดกิจการได้ดำเนินไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ตั้งไว้ ภาวะความกดดันต่างๆ ก็จะค่อยๆ หมดไปในที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง แต่ในทางตรงกันข้ามมีคนจำนวนไม่น้อยที่ประสบความล้มเหลวในการประกอบอาชีพส่วนตัว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อต่อความสำเร็จตามสภาพและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของแต่ละบุคคล 
                  นอกจากนี้อาชีพส่วนตัวยังสามารถแบ่งออกไปได้อีกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
                 3.1.1  อาชีพส่วนตัวด้านการผลิต 
                          ผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการต้องมีกระบวนการหรือขั้นตอนการผลิตหรือแปรรูปผลผลิตจนเป็นสินค้าที่นำไปจำหน่ายในท้องตลาดได้ อาจเป็นลักษณะการขายปลีก หรือขายส่ง เช่น ขนมไทย เบเกอรี่ สวนผัก สวนผลไม้ เลี้ยงกุ้ง และอาหารกระป๋อง ฯลฯ
                 3.1.2  อาชีพส่วนตัวด้านการให้บริการ
                          เป็นอาชีพที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เนื่องจากสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิต ทำให้คนมีเวลาน้อยลง จึงจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัย เทคโนโลยีและการบริโภคซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของคน และเมื่อนำงานบริการมาเปรียบเทียบกับงานอาชีพด้านอื่นๆ จะมีความเสี่ยงและการลงทุนค่อนข้างน้อย ยกเว้นงานบริการที่เกี่ยวกับความบันเทิงต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย อาชีพที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการและรู้จักกันอย่างแพร่หลาย เช่น บริการทำความสะอาด บริการซักรีดเสื้อผ้า บริการล้างรถยนต์ ซ่อมประปา ไฟฟ้า ซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า และซ่อมรถยนต์ ฯลฯ
            3.2  อาชีพลูกจ้าง
                 ลูกจ้างเป็นลักษณะการประกอบอาชีพ โดยไม่ได้เป็นผู้ประกอบการหรือเป็นเจ้าของกิจการและต้องทำงานตามที่นายจ้างมอบหมาย อาจได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน อาหาร ที่พักอาศัย และสิ่งจำเป็นอื่นๆ
                 คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยมีอาชีพเป็นลูกจ้าง เนื่องจากข้อจำกัดในการเป็นลูกจ้างต้องมีความรับผิดชอบในระดับหนึ่งเท่านั้น และอยู่ในวงจำกัด ไม่ต้องเสี่ยงกับผลกำไร-ขาดทุน ซึ่งอาจทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ในบริษัท ห้างร้าน โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เป็นต้น อาจเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือการให้บริการ เป็นงานที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่ หรือมีโครงสร้างขนาดเล็ก เช่น งานก่อสร้าง งานผู้ช่วยพ่อครัว แม่ครัว และพนักงานบริษัทต่างๆ เป็นต้น
            3.3  อาชีพข้าราชการ
                 ข้าราชการเป็นอาชีพที่ให้บริการแก่ประชาชน และมีหน้าที่ในการพัฒนาประเทศทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง และการป้องกันราชอาณาจักรให้รอดพ้นจากการรุกรานของต่างประเทศ และผลตอบแทนที่ได้รับก็คือ เงินภาษีของประชาชน
                 ลักษณะงานของข้าราชการมีเวลาในการทำงานที่แน่นอน และมีวันหยุดราชการตามกำหนด มีการกำหนดอัตราเงินเดือนแต่ละระดับชั้นอย่างชัดเจน การเลื่อนระดับชั้นขึ้นอยู่ที่ความสามารถของแต่ละบุคคล แต่ละหน่วยงานจะมีระบบการบริหารงานแตกต่างกันไป อาจจะแบ่งเป็นหน่วยย่อยๆ เพื่อให้สะดวกในการบริหารจัดการ และมีผู้ดูแลเป็นหัวหน้าในแต่ละหน่วยย่อย เพื่อให้ควบคุมประสิทธิภาพการทำงาน และผลงานได้อย่างทั่วถึง โดยมุ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
                 ยกตัวอย่าง ครู อาจารย์ มีบทบาทหน้าที่ในการอบรมสั่งสอน และให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน เพื่อให้เป็นคนดี มีความรู้ ความสามารถ และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ไม่ก่อปัญหาให้แก่สังคม ส่วนอาชีพทหารและตำรวจ มีหน้าที่ในการปกป้องประเทศชาติ และดูแลทุกข์สุขของประชาชน ให้ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อาชีพแพทย์ พยาบาล มีบทบาท หน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคต่างๆ และช่วยเหลือตนเองได้ เป็นต้น

อาหารอบ


ความสำคัญและประโยชน์ของอาหารอบ
                อาหารอบ หมายถึง อาหารที่ทำให้สุกด้วยวิธีอบหรือใช้ความร้อนแห้ง มีทั้งอาหารคาวและหวาน
                การอบ ต้องใช้อุปกรณ์คือ เตาอบ ซึ่งมักจะใช้ไฟฟ้าหรือแก๊สเป็นส่วนใหญ่ เตาอบเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาแพงกว่าเตาหุงต้มธรรมดา ซึ่งเดิมใช้เตาถ่านและฟืนเป็นเชื้อเพลิง แต่ปัจจุบันหันมานิยมใช้แก๊ส และใช้ไฟฟ้า
                การอบ เป็นวิธีการที่นิยมใช้ในการประกอบอาหารของชาวตะวันตกมาก่อน คนไทยในปัจจุบันนิยมใช้วิธีนี้มากขึ้น เมื่อกล่าวถึงอาหารอบจึงกล่าวถึงอาหารต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่
                อาหารเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตซึ่งจะขาดเสียมิได้ เพราะอาหารช่วยทำให้ร่างกายเจริญเติบโต แข็งแรงและช่วยพัฒนาร่างกายในด้านต่างๆ
อาหารอบจากแป้งสาลี มีหลายประเภท หลายรูปแบบ เช่น เค้ก คุกกี้ พาย ขนมปัง  ปัจจุบันอาหารอบจากแป้งสาลีกำลังเป็นที่นิยมของคนทั่วไป ประเทศที่กำลังพัฒนาไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ เช่น เมืองไทยยุคปัจจุบันซึ่งมีการแข่งขันรีบเร่งกันในทุกด้าน อาหารอบจึงมีประโยชน์และคุณค่าสูง นอกจากแป้งสาลี จะมีสารอาหาร โปรตีน คาร์โบไฮเดรท และไขมัน แล้วยังได้สารอาหาร จากส่วนผสมที่ผสมลงไปอีก เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ไข่ นม เนย จึงนับว่าอาหารอบจากแป้งสาลีมีสารอาหารครบ 5 หมู่ สมบูรณ์ต่อร่างกายทางด้านจิตใจ อาหารอบรับประทานแล้วอิ่มทำให้จิตใจมีความสุข
                สารอาหาร หมายถึง สารเคมีที่มีในอาหารให้ประโยชน์ต่อร่างกายต่างกันตามชนิดของสารอาหารนั้นๆ

อาหารหลัก 5 หมู่ของไทย
                1.  อาหารหมู่ที่ 1 มีเนื้อ นม ไข่ ถั่วต่างๆ และผลิตผลจากถั่ว อาหารหมู่นี้จะให้สาราอาหารโปรตีนเป็นส่วนใหญ่ ประโยชน์ของโปรตีนต่อร่างกาย ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตสร้างเซลและเนื้อเยื่อต่างๆ รวมทั้งซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของอวัยวะต่างๆ ช่วยต้านทานโรคให้พลังงานและ   ช่วยในการย่อย การหายใจ การดูดซึม การทำงานของอวัยวะต่างๆ
                2.  อาหารหมู่ที่ 2 ได้แก่ ข้าว แป้ง น้ำตาล เผือก มัน สารอาหารที่ได้รับส่วนมากจะเป็นคาร์โบไฮเดรท ประโยชน์ของคาร์โบไฮเดรทต่อร่างกาย ให้พลังงานและความอบอุ่น ช่วยสงวนโปรตีนให้ร่างกาย ช่วยให้ปฏิกิริยาการใช้ไขมันเป็นไปตามปกติ
                3.  อาหารหมู่ที่ 3 ได้แก่ ผักใบเขียว ผักสีเหลือง และพืชผักต่างๆ สารอาหารที่ได้จากหมู่นี้ได้แก่ เกลือแร่ วิตามิน
                4.  อาหารหมู่ที่ 4 ได้แก่ ผลไม้ต่างๆ สารอาหารหมู่นี้จะคล้ายกับพวกผัก คือให้เกลือแร่และวิตามินต่างๆ ประโยชน์ของเกลือแร่และวิตามินต่อร่างกาย ช่วยต้านทานโรคช่วยทำให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำงานตามปกติ
                5.  อาหารหลักหมู่ที่ 5 อาหารหมู่นี้ได้แก่ ไขมัน และน้ำมันจากพืชและจากสัตว์ ประโยชน์ของไขมันต่อร่างกาย ให้พลังงานมากกว่าสารอาหารอื่นๆ เป็นตัวนำวิตามินที่ละลายในไขมัน และช่วยในการดูดซึมวิตามินนั้นๆ ในระบบทางเดินอาหาร ป้องกันการกระทบกระเทือนของอวัยวะภายในได้ ให้กรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ขนมเทียน



                1.  ความสำคัญของผลิตภัณฑ์ขนมเทียน
                         ขนมเทียนเป็นขนมไทยพื้นบ้าน ประกอบและปรุงให้สุกด้วยการนึ่ง ใช้ในพิธีมงคลต่างๆ การทำบุญเทศกาลงานประเพณี ดังนี้
                         1.1  งานประเพณีบุญเดือนสามหรืองานบุญข้าวจี่ ชาวบ้านจะมีขนมเทียน ข้าวต้มผัด และข้าวต้มมัด ไปถวายพระและแจกจ่ายญาติโยมที่ไปร่วมงานประเพณีประจำปี
                         1.2  งานประเพณีบุญเดือนสี่ หรือบุญพระเวส ของชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขนมที่สำคัญในเทศกาล คือ ขนมเทียน มีทั้งไส้หวานและไส้เค็ม
                         1.3  งานในเทศกาลสารทจีนและตรุษจีน ชาวจีนจะมีพิธีการไหว้บรรพบุรุษและไหว้วิญญาณที่เร่ร่อน ขนมที่ขาดไม่ได้คือ ขนมเทียน ขนมเข่ง
                         จากความสำคัญของขนมเทียนที่ใช้ในงานเทศกาลสำคัญๆ ที่กล่าวมาแล้ว ขนมเทียนยังเป็นที่นิยมของผู้บริโภค และผลิตเพื่อจำหน่าย ขายเป็นอาชีพ เพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวได้อีกด้วย

                2.  วัตถุดิบที่นำมาใช้ทำขนมเทียน
                         2.1  แป้งข้าวเหนียวขาว ที่ขายตามท้องตลาด จะมีทั้งแป้งสดและแป้งแห้ง สำหรับ แป้งข้าวเหนียวสด คือแป้งที่เราโม่ทับ ซึ่งเหมาะที่จะทำขนมจำพวกบัวลอย ขนมเทียน ปลากริมไข่เต่า สำหรับการเลือกซื้อแป้งข้าวเหนียวขาว ถ้าเป็นแป้งสดควรดมดูกลิ่นต้องไม่เหม็นเปรี้ยว ข้อสำคัญของแป้งสด ถ้าซื้อมาต้องรีบทำ เพราะถ้าทิ้งไว้จะเสียง่าย หรือถ้าเป็นแป้งแห้งควรเลือกเนื้อละเอียด ไม่มีกลิ่นอับและตัวมอด
                         2.2  แป้งข้าวเหนียวดำ ทำจากข้าวเหนียวดำ จะมีลักษณะสีเทา ถ้านำมาทำขนม ควรผสมแป้งข้าวเหนียวขาวลงไปด้วย เพราะถ้าใช้แป้งข้าวเหนียวดำอย่างเดียวจะดำมาก และมีความกระด้าง ส่วนใหญ่จะนำมาทำขนมสอดไส้ ขนมเทียน ถั่วแปบ
                                   การเก็บรักษาแป้ง แป้งทุกชนิดจะมีวิธีการเก็บรักษาอย่างเดียวกัน คือ ใช้ภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิดกันชื้น ถ้าเป็นแป้งสดควรเก็บใส่ตู้เย็น
                         2.3  น้ำตาลทราย ใช้น้ำตาลทรายขาวเป็นส่วนผสมนวดกับแป้ง จะช่วยให้แป้งสีใสและขาวสวย หรือถ้าใช้สีธรรมชาติมาผสมกับเนื้อขนม ก็จะเพิ่มความโดดเด่นของสีขนมเทียนยิ่งขึ้น
                         2.4  ถั่วเขียว ใช้ถั่วเขียวเลาะเปลือกหรือเรียกว่าถั่วทอง โดยแช่ถั่วทิ้งไว้ 3-4 ชั่วโมง แล้วล้างให้สะอาดก่อนนำไปนึ่งให้สุก
                         2.5  เนื้อหมูสามชั้น (ใช้กับขนมเทียนไส้เค็ม) เลือกซื้อเนื้อหมูเกรด A (เนื้อจะมากกว่าน้ำมัน)
                         2.6  หัวหอมหัวแดง (ใช้กับขนมเทียนไส้เค็ม) เลือกหอมที่เนื้อแน่น
                         2.7  รากผักชี พริกไทย กระเทียม (ใช้กับขนมเทียนไส้เค็ม)
                         2.8  เกลือป่น ใช้ปรุงขนมเทียนไส้เค็ม เพื่อให้มีรสกลมกล่อม
                         2.9  มะพร้าวทึนทึก คือ มะพร้าวกลางอ่อนกลางแก่ นำมาขูดทำไส้ขนมเทียนไส้หวาน
                         2.10  สี เป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ขนมเทียนสวยงามและน่ารับประทานยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสีที่ได้จากวัสดุธรรมชาติ ให้ความสวยงามและปลอดภัย
                                   สีธรรมชาติจากพืช เป็นสีที่ได้จากส่วนต่างๆ ของพืช ดอก ผล เมล็ด แก่น ราก และใบ ได้แก่
                                   2.10.1  ใบเตย ให้สีเขียวและให้กลิ่นหอมด้วย วิธีการทำคือ ล้างใบเตยให้สะอาดหั่นฝอย นำไปปั่นหรือโขลกให้ละเอียด เติมน้ำนิดหน่อย แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง เอาแต่น้ำสีเขียวนำไปเป็นส่วนผสมขนมชนิดต่างๆ
                                   2.10.2  เปลือกแก้วมังกร ให้สีชมพูสด วิธีการคือ ขูดเอาเปลือกสีแดงนำไปปั่น แล้วกรองเอาแต่น้ำ
                                   2.10.3  ฟักทอง ให้สีเหลือง วิธีการคือ หั่นฟักทองเป็นชิ้นเล็ก ปั่นให้ละเอียดแล้วกรองเอาแต่น้ำ
                                   2.10.4  ดอกอัญชัน ให้สีน้ำเงินสดและสีม่วง วิธีการทำคือ ล้างดอกอัญชันให้สะอาด แล้วขยี้เติมน้ำเล็กน้อย แล้วกรองเอาแต่น้ำ
                                   2.10.5  หัวบีทรูท ให้สีแดงเข้ม วิธีการคือ หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปปั่นกรองเอาแต่น้ำ
                                   2.10.6  หัวแครอท ให้สีส้ม วิธีการคือ หั่นหัวแครอทเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วปั่นกรองเอาแต่น้ำ
                                   นอกจากพืชผักที่กล่าวมาแล้ว พืชผักอื่นๆ เช่น แครอท เผือก ดอกกรรณิการ์ ดอกไม้สีต่างๆ ก็สามารถนำไปสกัดเป็นสีไปผสมอาหารและขนมได้อย่างปลอดภัยเช่นกัน
                                  

                3.  อุปกรณ์เครื่องมือในการทำขนมเทียน
                         3.1  รังถึง ใช้สำหรับนึ่งขนมเทียน ถ้าไม่มีใช้หวดนึ่งข้าวแทน
                         3.2  กระทะทอง ใช้กวนไส้ขนม (สำหรับทำไส้หวาน)
                         3.3  ชุดถ้วยตวง ช้อนตวง อุปกรณ์การตวงสำหรับตวงปริมาณวัตถุดิบให้ได้มาตรฐาน
                         3.4  มือแมว หรือ คันชัก สำหรับใช้ขูดมะพร้าวให้เป็นเส้นๆ
                         3.5  เตาแก๊ส สำหรับหุงต้ม
                         3.6  ชามผสม ใช้ใส่วัตถุดิบและส่วนผสมต่างๆ
                         3.7  ถาด สำหรับใส่วัตถุดิบและส่วนผสมต่างๆ
                         3.8  ครีมคีบขนม ใช้หยิบหรือจับขนม
                         3.9  มีดและเขียง ใช้หั่นและสับอาหาร
                         3.10  ครก/ไม้ตีพริก ใช้โขลกส่วนผสม
                         3.11  ใบตอง ใช้สำหรับห่อขนมเทียน นิยมใช้ใบตองจากกล้วยน้ำว้า เพราะเนื้อใบตองจะนุ่ม อ่อน ห่อง่าย ไม่ฉีกหรือแตก

                4.  เทคนิคและวิธีการทำขนมเทียน
                         เทคนิคการทำขนมเทียน
                         1.  การนวดแป้งต้องใส่น้ำเชื่อมและสีทีละน้อยๆ นวดให้นานจนเนียน และปั้นไม่ติดมือ และหมักแป้งทิ้งไว้
                         2.  แป้งที่นวดแล้วใช้ผ้าขาวบางคลุมไว้ เพื่อไมให้แป้งแห้ง
                         3.  การเลือกวัตถุดิบต้องใหม่และสด ไม่มีกลิ่นสาบ
                         4.  การนึ่งใช้ไฟปานกลาง นึ่งประมาณ 20-25 นาที
  
                         เทคนิคการห่อขนมเทียน
                         1.  การห่อขนมเทียนแบบพับชายสอด หรือห่อทรงปิรามิด
                         2.  การห่อขนมเทียนแบบไม่พับชายสอดหรือห่อแบบนมสาว การห่อแบบนมสาวไม่มีใช้ไม้กลัด ห่อเสร็จแล้วให้เรียงลงในลังถึง ไม่ควรเคลื่อนย้ายขนมเพราะใบตองจะคลายตัวออกมา ควรนำไปนึ่งเลย
                         3.  การห่อขนมเทียนต้องใช้ใบตอง 2 ชั้น ถ้าใช้ใบตองชั้นเดียวจะทำให้ขนมเทียนที่นึ่งสุกแล้วเสียรูปทรงได้
                        


                         การเก็บรักษาขนมเทียน
                         ขนมเทียนที่นึ่งสุกแล้วปล่อยให้เย็น เก็บใส่กล่องพลาสติกเข้าตู้เย็น ช่องแช่เย็น สามารถเก็บได้นานถึง 30-40 วัน ก่อนจะนำมารับประทานนำไปอุ่นให้ร้อนก่อน จะได้ขนมเทียน ที่มีรสชาติเหมือนเดิม 
                         ลักษณะขนมเทียนที่ดี
                         1.  แป้งขนมเทียนนุ่มเหนียว แม้จะปล่อยให้ขนมเทียนเย็นแล้ว
                         2.  ขนมเทียนไส้เค็ม จะมีความหอมจากรากผักชี กระเทียม พริกไทย
                         3.  ขนมเทียนไส้หวาน จะมีความหอมจากกลิ่นเทียนอบ
                         4.  การนำสีจากวัสดุธรรมชาติมาเป็นส่วนผสมขนมเทียน จะช่วยเพิ่มให้ขนมมีความแปลกใหม่ และเด่นสะดุดตา ปลอดภัยต่อผู้บริโภคอีกด้วย

วัตถุดิบในการทำขนมไทย


1.  แป้งที่ใช้ในการทำขนมไทย
          1.1  แป้งข้าวเจ้า เป็นแป้งที่ใช้ทำขนมไทยมากที่สุด มีแป้งสดกับแป้งแห้ง ปัจจุบันจะมีขายแต่แป้งแห้ง ลักษณะแป้งมีสีขาว มีลักษณะสากมือ เป็นผงหยาบกว่าแป้งสาลี
          1.2  แป้งข้าวเหนียว ใช้ทำขนมไทยหลายชนิด ลักษณะมีสีขาวนวล สากมือน้อยกว่าแป้งข้าวเจ้า เมื่อขนมสุกจะเหนียว หนืด
          1.3  แป้งถั่ว ทำจากถั่วเขียว นิยมใช้ทำสลิ่ม, ตะโก้, ลืมกลืน ลักษณะสีขาวเป็นเงา เนียนลื่น เมื่อสุกแล้วจะใส
          1.4  แป้งมันสำปะหลัง ได้จากหัวมันสำปะหลัง ใช้เป็นส่วนผสมกับแป้งชนิดอื่นๆ เพื่อให้คุณสมบัติขนมดีขึ้น เมื่อขนมสุกจะใส เหนียว หนืด
          1.5  แป้งท้าวยายม่อม ใส่ขนมแล้วจะใสเนียน คล้ายแป้งถั่ว ทำมาจากหัวแป้งท้าวยายม่อม เก็บหัวได้ปีละครั้ง ลักษณะมีสีขาว เป็นเม็ดสีเหลือง เมื่อสุกจะใส เหนียวกว่าแป้งมัน
          1.6  แป้งสาลี ได้จากข้าวสาลีมีหลายชนิด ทั้งชนิดเบา หนัก เลือกใช้ตามวัตถุประสงค์ มีความยืดหยุ่นสูง เหนียว
          1.7  แป้งข้าวโพด ได้จากเมล็ดข้าวโพด นิยมใช้ผสมขนมที่ต้องการความข้นอยู่ตัว ไม่คืนตัวง่าย


2.  ถั่วและงาที่ใช้ทำขนม
          2.1  ถั่วเขียวเราะเปลือก บางทีก็เรียกว่าถั่วทอง ถั่วซีก ก่อนนำมาทำขนมต้องล้าง และเลือกกรวดออกให้หมดแล้วแช่น้ำอุ่น 2-3 ชั่วโมง
          2.2  ถั่วดำ ต้องแช่น้ำให้เม็ดบาน เลือกถั่วไม่ดีทิ้งเสียก่อน
          2.3  ถั่วลิสง เป็นถั่วที่ขึ้นราง่ายที่สุด ซื้อมาแล้วคั่วเก็บใส่ขวดไว้ใช้
          2.4  งาขาว-งาดำ จะทำให้ขนมมีความหอม เวลาซื้อควรซื้องาที่ไม่มีตัวมอด วิธีเก็บ  ควรนำไปคั่วไฟอ่อนๆ แล้วเก็บไว้พอจะใช้ก็คั่วอีกครั้งหนึ่ง

3.  กลิ่น
          มี 2 ชนิดคือ
          3.1  กลิ่นธรรมชาติ
                 3.1.1  กลิ่นน้ำลอยดอกมะลิ แช่ดอกมะลิค้างคืน ปิดฝาไว้ น้ำอุ่น
                 3.1.2  กลิ่นกุหลาบ เด็ดกลีบกุหลาบมอญ ทำเช่นเดียวกับมะลิ
                 3.1.3  กลิ่นเทียนอบ ดอกกรรณิการ์
                 3.1.4  กลิ่นใบเตย ล้างใบเตยให้สะอาด ตัดเป็นท่อน ใส่ลงไปเลย หากต้องการสี ก็หั่นฝอยแล้วโขลกให้ละเอียดแล้วคั้นน้ำ จะได้ทั้งสีและกลิ่น
          3.2  กลิ่นสังเคราะห์ สังเคราะห์โดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ แล้วตั้งชื่อกลิ่นตามหัวเชื้อ เช่น กลิ่นมะลิ กลิ่นวานิลลา กลิ่นนม เนย

4.  สี
          4.1  สีธรรมชาติ
                 4.1.1  สีเขียว ได้จากใบเตยหอม เตรียมโดยหั่นขวางใบให้เป็นฝอย โขลกพอแหลก เติมน้ำเล็กน้อยแล้วคั้นกรองด้วยผ้าขาวบาง ใช้ทำขนมชั้น ซ่าหริ่ม ขนมเปียกปูน ฯลฯ
                 4.1.2  สีแดง ได้จากกระเจี๊ยบแดง เตรียมโดยใช้ส่วนกลีบเลี้ยงที่หุ้มฝัก แกะฝักทิ้งแล้วต้มให้เดือด ใช้ทำน้ำกระเจี๊ยบ ฯลฯ
                 4.1.3  สีแดงกล้ำ ได้จากข้าวแดง เตรียมโดยนำเมล็ดข้าวมาบดละเอียด ใช้ทำ หมูแดง เต้าหู้ยี้ ปลาจ่อม ขนมต่างๆ ฯลฯ
                 4.1.4  สีชมพูอ่อน ได้จากฝาง เตรียมโดยใช้ส่วนที่เป็นแก่น ต้มกับน้ำ ใช้ทำ   น้ำยาอุทัย ขนมชั้น ขนมขี้หนู ข้าวเหนียวแก้ว ฯลฯ
                 4.1.5  สีแดงทับทิม
                          4.1.5.1  ได้จากครั่ง เตรียมโดยแช่น้ำหรือคั้น ควรใช้สารส้มแกว่งในน้ำเล็กน้อย จะได้สีแดงสวยงามยิ่งขึ้นใช้ทำขนมชั้น ขนมเรไร มะพร้าวแก้ว ขนมน้ำดอกไม้ ฯลฯ  
                          4.1.5.2  ได้จากหัวบีท ล้างให้สะอาดแล้วปอกเปลือก ฝานเป็นแว่นบางๆ สับหรือโขลกให้ละเอียด ตักใส่ผ้าขาวบาง คั้นเอาแต่น้ำ ใช้ทำขนมบัวลอย ขนมชั้น ซ่าหริ่ม มะพร้าวแก้ว หรืออาหารที่ทำให้สุกด้วยการนึ่ง กวน หรือต้ม ฯลฯ
                          4.1.5.3  ได้จากเปลือกแก้วมังกร ขูดเอาบริเวณเปลือกด้านใน แล้วปั่น กรองเอาแต่น้ำ จะได้สีแดงเข้ม
                 4.1.6  สีน้ำตาล ได้จากโกโก้ โดยนำเมล็ดโกโก้มาคั่วเอาเปลือกออก เนื้อโกโก้จะเกาะกันเป็นแท่งๆ นำมาบดให้แตกเป็นผงอีกครั้ง ใส่รวมกับแป้ง แต่ที่เราใช้นั้นใช้โกโก้ผงที่ชงเครื่องดื่มนำมาผสมกับแป้งทำขนม ใช้ทำขนมเค้ก คุกกี้ ขนมสัมปะนี หน้าน้ำตาลที่ใช้ ชุบโดนัท ฯลฯ
                 4.1.7  สีเหลืองทอง ได้จากดอกกรรณิกา โดยเด็ดเอาแต่เฉพาะหลอดดอก ใช้ผ้าขาวบาง หยดน้ำใส่นิดหน่อย แล้วคั้นเอาแต่น้ำ ใช้ทำมะพร้าวแก้ว ขนมเรไร วุ้น เป็นต้น
                 4.1.8  สีเหลือง
                          4.1.8.1  ได้จากขมิ้น โดยปอกเปลือกออกให้หมด โขลกให้ละเอียด เติมน้ำนิดหน่อย เทใส่ผ้าขาวบาง คั้นเอาแต่น้ำ ใช้ทำข้าวเหนียวมูน ขนมเบื้อง ข้าวบุหรี่ แกงกะหรี่ แกงเหลือง ฯลฯ
                          4.1.8.2  ได้จากลูกตาล เตรียมโดยลอกเปลือกแข็งออกใส่ลงในชาม ใส่น้ำ พอท่วม ใช้มือนวดเอาเนื้อที่แทรกอยู่ตามเส้นใยออกให้หมด เติมน้ำอีก คนให้เข้ากันแล้วเทใส่กระชอน กรองเอาเยื่อใยออกเสียก่อนจึงใส่ถุงผ้า ผูกปากให้แน่นทับให้แห้ง ใช้ทำขนมตาล เค้ก ไอศกรีม ฯลฯ
                          4.1.8.3  ได้จากฟักทอง ต้มสุกแล้วบดให้ละเอียด ใช้ทำข้าวเกรียบ เค้ก ไอศกรีม
                          4.1.8.4  ได้จากมันเทศ ต้มให้สุก ปอกเปลือก บดให้ละเอียด ใช้ทำข้าวเกรียบ เค้ก  ไอศกรีม ฯลฯ
                          4.1.8.5  ได้จากหญ้าฝรั่น หรือแซฟฟรอน (Saffron) โดยใช้เกสรตัวเมีย (แห้ง) แช่น้ำร้อน ใช้ทำข้าวหมกไก่ ข้าวผัดสเปน ข้าวพิลาฟ ฯลฯ
                          4.1.8.6  ได้จากดอกพุด ใช้ส่วนที่เป็นผลแก่ แช่ในน้ำร้อน ใช้ทำอาหารที่ต้องการสีเหลือง เช่น เต้าหู้เหลือง ฯลฯ
                 4.1.9  สีเหลืองอ่อน ได้จากดอกคำฝอย แกะเอาแต่กลีบดอก ตากให้แห้งเมื่อเวลาจะใช้ใส่น้ำพอท่วม แล้วต้มให้เดือดนานประมาณ 5 นาที กรองเอากากทิ้ง ใช้แต่น้ำใช้ทำข้าวพิลาฟ ขนมน้ำดอกไม้ มะพร้าวแก้ว ขนมถ้วยฟู ฯลฯ
                 4.1.10  สีเหลืองอมน้ำตาล ได้จากเมล็ดคำแสดหรือคำเงาะ ใช้เมล็ดแห้ง แช่น้ำร้อน ใช้แต่งสีเนยและเนยแข็ง ขนมที่ต้องการสีเหลือง เช่น มะพร้าว ขนมน้ำดอกไม้ ขนมเรไร เป็นต้น
                 4.1.11  สีเหลืองส้ม ได้จากส้มเขียวหวาน เตรียมโดยล้างส้มให้สะอาด ผ่าครึ่งซีกคั้นเอาแต่น้ำ ทำขนมเค้ก ขนมปัง ซอสส้ม ฯลฯ
                 4.1.12  สีม่วง ได้จากข้าวเหนียวดำ เตรียมโดยเอาข้าวเหนียวดำแช่น้ำรวมกับข้าวเหนียวขาวประมาณ 3 ซม. เหมาะสำหรับขนมประเภทแป้งข้าวเหนียว ถ้าต้องการสีม่วงอ่อน ข้าวเหนียวขาว 4 ส่วน ข้าวเหนียวดำ 1 ส่วน สีม่วงกลาง ข้าวเหนียวขาว 3 ส่วน ข้าวเหนียวดำ 1 ส่วน สีม่วงเข้ม ข้าวเหนียวขาว 2 ส่วน ข้าวเหนียวดำ 1 ส่วน ใช้ทำขนมประเภทแป้งข้าวเหนียว เช่น ถั่วแปบ ขนมจาก ขนมโค ขนมต้ม เป็นต้น และได้จากผักปรัง  โดยเก็บลูกสุก ใส่ผ้าขาวบาง คั้นเอาแต่น้ำ ใช้ทำขนมที่ทำให้สุกในเวลาสั้นๆ อุณหภูมิไม่สูง เช่น ซ่าหริ่ม บัวลอย น้ำดอกไม้ เรไร ช่อม่วง
                 4.1.13  สีน้ำเงินหรือสีม่วง ได้จากดอกอัญชัน เตรียมโดยเด็ดส่วนโคนที่เป็นสีเขียวออกไป ใช้เฉพาะสีน้ำเงิน ใส่ถ้วย เติมน้ำนิดหน่อย แล้วบี้ให้ช้ำ เทใส่ผ้าขาวบาง คั้นเอาแต่น้ำ ใช้ทำขนมช่อม่วง ขนมชั้น ซ่าหริ่ม ขนมน้ำดอกไม้ ขนมเค้ก ขนมเรไร ข้าวมันกะทิ สีดอกอัญชัน บัวลอย
                 4.1.14  สีดำ ได้จากกาบมะพร้าว เตรียมโดยจุดไฟเผากาบมะพร้าวจนไหม้เป็นถ่านแดง เอาน้ำราดให้ไฟดับ นำไปบดละเอียด ผสมกับน้ำ กรองผ่านผ้าขาวบาง ใช้ทำขนมเปียกปูน และได้จากดอกดิน โดยนำส่วนดอกมาโขลกผสมรวมกับแป้ง ใช้ทำขนมดอกดิน
          4.2  สีสังเคราะห์ สังเคราะห์โดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ แล้วปรุงแต่งกลิ่น มีขายทั่วไป

ประวัติและความเป็นมาของขนมไทย

1.  ประวัติและความเป็นมาของขนมไทย
     1.1  สมัยสุโขทัย
            ขนมไทยมีที่มาคู่กับชนชาติไทย จากประวัติศาสตร์ที่ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศคือจีนและอินเดียในสมัยสุโขทัย มีส่วนช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านอาหารการกินร่วมไปด้วย
     1.2  สมัยอยุธยา          
            เริ่มมีการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศทั้งชาติตะวันออกและตะวันตกไทยเรา  ยิ่งรับเอาวัฒนธรรมด้านอาหารของชาติต่างๆ มาดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ เครื่องมือเครื่องใช้ วัตถุดิบที่หาได้ ตลอดจนนิสัยการบริโภคของคนไทยเอง จนบางทีคนรุ่นหลังแทบจะแยกไม่ออกเลยว่า อะไรคือขนมไทยแท้ๆ อะไรที่เรายืมเค้ามา เช่น ทองหยิบ ทองหยอด และฝอยทอง หลานท่านอาจคิดว่าเป็นของไทยแท้ๆ แต่ความจริงแล้วมี   ต้นกำเนิดจากประเทศโปรตุเกสโดย มารี  กีมาร์ หรือ ท้าวทองกีบม้า
            ท้าวทองกีบม้า ได้เข้าไปรับราชการในพระราชวังตำแหน่ง หัวหน้าห้องเครื่องต้น  ดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหลวง เป็นหัวหน้าเก็บพระภูษาฉลองพระองค์ และเก็บผลไม้ของเสวย มีพนักงานอยู่ใต้บังคับบัญชาเป็นหญิงล้วน จำนวน 2,000 คน ซึ่งเธอก็ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ชื่นชม ยกย่อง มีเงินคืนทองพระคลังปีละมากๆ ระหว่างที่รับราชการนี่เอง มารี  กีมาร์ ได้สอนการทำขนมหวานจำพวก ทองหยอด ทองหยิบ ฝอยทอง ทองพลู ทองโปร่ง ขนมผิง และอื่นๆ ให้แก่ผู้ทำงานอยู่กับเธอและสาวๆ เหล่านั้นได้นำมาถ่ายทอดต่อมายังแต่ละครอบครัวกระจายไปในหมู่คนไทยมาจนปัจจุบัน



2.  ขนมไทยกับประเพณีของไทย
          2.1  ประเพณีแต่งงาน ขนมที่จะนำมาเลี้ยงรับรองแขกนี้จะต้องคำนึงถึงความเป็นสิริมงคล ขนมที่ใช้คือ ขนมนมสาว ขนมผิง ขนมฝรั่ง ขนมบ้าบิ่น ขนมฝักบัว ขนมใส่ไส้  ขนมรังนก ขนมฟองมุก ขนมหน้านวล ขนมทองม้วน ขนมเล็บมือนาง ขนมหัวผักกาด ขนมชั้น ขนมทองหยิบ ขนมฝอยทอง
          2.2  ประเพณีบวชพระ งานบวชเป็นงานที่มีผู้มาร่วมงานมากมาย เจ้าภาพก็ต้อนรับด้วยอาหารคาวหวานนานาชนิด ขนมไทยที่ใช้ในการเลี้ยงรับรองแขกประกอบไปด้วย ขนมเทียนแก้ว ขนมสำปันนี ขนมทองเอก ขนมช่อม่วง เม็ดขนุน สังขยา ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมเหล่านี้ถือกันว่าเป็นยอดของขนมในสมัยโบราณ
          2.3  ประเพณีสงกรานต์ ก่อนถึงวันสงกรานต์หนึ่งวัน คือวันที่  12  เมษายน เป็นวันเตรียมซื้อหาสิ่งของสำหรับทำบุญและจัดเตรียมทำขนมกันทุกบ้าน เพื่อนำไปทำบุญถวายพระและแจกชาวบ้านในวันสงกรานต์ โดยมากเป็นขนมเปียก ข้าวเหนียวแดง ขนมกะละแม
       2.4  ประเพณีสารทไทย ประเพณีทำบุญสารท คือ วันสิ้นเดือน 10 ชาวบ้านนำเอาโภชนาหารพร้อมทั้งกระยาสารทและกล้วยไข่ไปตักบาตรกันที่วัด
          2.5  การทำขนมในเทศกาลปีใหม่ของคนไทยสมัยก่อน จึงต้องทำให้เสร็จก่อน  วันสงกรานต์ เพราะเมื่อถึงวันงานชาวบ้านจะไปทำบุญเลี้ยงพระและก่อพระเจดีย์ทรายที่วัด   แล้วจึงรดน้ำดำหัวเล่นสงกรานต์กันไปทั้ง 7 วัน ขนมปีใหม่ของไทยจึงเป็นขนมพื้นเมืองที่ทำแล้วสามารถเก็บไว้ได้หลายวัน คือ ข้าวเหนียวแก้ว ข้าวเหนียวแดง และกะละแม การกวนกะละแมถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ใช่ว่าชาวบ้านจะนิยมกวนกันทุกปี ส่วนใหญ่มักจะทำข้าวเหนียวแก้วบ้าง ข้าวเหนียวแดงบ้าง สลับกันไป เพราะสองอย่างนี้ทำได้ง่ายกว่า หรือถ้าบ้านไหนตั้งใจจะกวนกะละแมและเป็นครอบครัวใหญ่ มีญาติพี่น้องมาก บรรยากาศช่วงกวนกะละแมคึกคักเป็นพิเศษ ทุกคนจะช่วยกันเตรียมการประมาณ 2 วัน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เป็นลูกหลานจะถือเป็นเรื่องสนุกสนาน เพราะไม่เพียงแต่ได้กินกะละแมก้นกระทะเท่านั้น ยังอาจจะได้กินมะพร้าวเผา อ้อยเผาอีกด้วย
          2.6  งานบุญออกพรรษาหรืองานตักบาตรเทโว ข้าวต้มมัดหรือข้าวต้มผัดเป็นดาวดวงเด่น ของงานบุญออกพรรษาหรืองานตักบาตรเทโวของภาคกลาง จะห่อเป็นมัดเป็นกลีบ โดยใช้ใบตองและเชือกกล้วย ส่วนทางใต้ห่อเป็นทรงกรวย โดยใช้ใบกะพ้อแต่ไม่มัดบางท้องถิ่นห่อเป็นก้อนด้วยใบเตยหรือใบอ้อย แล้วไว้หางยาว เรียกว่า ข้าวต้มลูกโยน การนำข้าวต้มมัดมาใส่บาตรทำบุญจนเกิดขึ้นเป็นธรรมเนียมนั้น มีจุดประสงค์เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ใช้เป็นเสบียงในการเดินทางไปเผยแพร่พระธรรมคำสอน ซึ่งยึดเป็นแบบแผนมาตั้งแต่สมัยโบราณ
งานมงคลต่างๆ งานแสดงความยินดีและงานมงคลต่างๆ เช่น งานขึ้นบ้านใหม่งานทำบุญอายุ งานฉลองยศ ของหวานที่นิยมเลี้ยงพระและเลี้ยงแขก เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานทำบุญอายุ งานฉลองยศ ของหวานที่นิยมเลี้ยงพระและเลี้ยงแขก คือ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองเอก ทองม้วน ขนมชั้น ขนมเทียน ขนมถ้วยฟู ขนมสี่ถ้วย ซึ่งประกอบด้วย เม็ดแมงลัก ลอดช่อง ข้าวเม่า ข้าวเหนียวน้ำกะทิ หรือข้าวต้ม น้ำวุ้น
อาหารที่จัดเลี้ยงพระต้องมีเครื่องคาวหวานครบในด้านขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม ของหวานมีความสำคัญต่อชีวิตมาก เป็นสัญลักษณ์ของความสุข การกวนกะละแม ในงานแต่งงานต้องใช้ญาติมิตรมาช่วยกันมาก เป็นขนมที่แสดงถึงความรัก ความสามัคคีที่ขาดไม่ได้ สำหรับงานแต่งงานของภาคใต้จะต้องมีกะละแม ข้าวเหนียวแก้ว ขนมชั้น และขนมหวานอื่นๆ ขนมในงานมงคลที่เป็นพิธีการนิยมขนมที่มีชื่อและความหมายที่เป็นมงคล 9 ชนิดดังนี้
1.  ขนมจ่ามงกุฎ มีความหมายถึง ความเป็นเลิศ เพราะเป็นสุดยอดของขนมไทย
2.  ขนมทองเอก มีความหมายถึง ความเป็นหนึ่ง
3.  ขนมเสน่ห์จันทร์ มีความหมายถึง ความมีเสน่ห์เป็นที่ชื่นชมแก่ผู้พบเห็น
4.  ขนมชั้น มีความหมายถึง ชีวิตที่ประสบแต่ความเจริญเพิ่มพูน
5.  ขนมถ้วยฟู มีความหมายถึง ความเจริญเฟื่องฟู
6.  ขนมฝอยทอง มีความหมายถึง การมีชีวิตที่ยืนยาว
7.  ขนมทองหยิบ มีความหมายถึง ความร่ำรวย หยิบเงินหยิบทอง
8.  ขนมทองหยอด มีความหมายถึง ทำอะไรก็เป็นเงินเป็นทอง
9.  ขนมเม็ดขนุน มีความหมายถึง มีบุญบารมีช่วยเกื้อหนุน
ขนมทั้ง 9 ชนิด จะจัดตกแต่งให้สวยงาม วางไว้ในพิธีมงคล เพื่อทำบุญเลี้ยงพระเลี้ยงญาติมิตร และเป็นของขวัญแจกในงานมงคลหรือเทศกาลขึ้นปีใหม่



3.  ประเภทของขนมไทย
          การแบ่งประเภทขนมไทยตามสมัยโบราณแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้
          1.  ขนมชั้นดี ได้แก่ ขนมเทียนแก้ว ขนมสัมปันนี ขนมทองเอก ขนมกระจัง ขนมช่อม่วง ขนมมะเขือเทศ เม็ดขนุน สังขยา ทองหยิบ ฝอยทอง ขนมเหล่านี้ถือว่าเป็นขนมสมัยโบราณ และจัดเข้าสำรับสำหรับเลี้ยงพระหรือเลี้ยงแขกไว้เป็นพวกหนึ่ง
          2.  ขนมอย่างเลว เป็นขนมที่ทำง่าย คนทำไม่ต้องใช้ฝีมือเท่าใดนัก มีราคาถูก มักทำอย่างแพร่หลายในตลาด มีเงินก็หาซื้อได้ ได้แก่ ขนมดอกเหล็ก ขนมเปียกปูน ขนมต้มขาว  ขนมต้มแดง ขนมด้วง ขนมครองแครง ขนมกรวย ขนมใส่ไส้ ขนมทอง
          3.  ขนมคนป่วย เป็นขนมที่จัดไว้เป็นพิเศษ รสชาติไม่หวานจัด เพราะคนโบราณ เชื่อว่าคนป่วยรับประทานของหวานจัดไม่ได้ จะแสลงโรค ขนมที่จัดสำหรับคนป่วยมี 6 ชนิด คือ ขนมด้วง ขนมนกกระจอก ขนมเรไร ขนมพันตอง ขนมปั้นสิบ ขนมไส้ปลา

การแบ่งตามลักษณะของเครื่องปรุงและวิธีการทำและวิธีหุงต้ม แบ่งได้ดังนี้
1.  ขนมประเภทไข่ เช่น ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด สังขยา จ่ามงกุฎ ฯลฯ
2.  ประเภทนึ่ง เช่น ขนมชั้น ขนมสาลี่ ขนมน้ำดอกไม้ ขนมทราย ฯลฯ
3.  ขนมประเภทต้ม เช่น ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว มันต้มน้ำตาล ฯลฯ
4.  ขนมประเภทกวน เช่น ขนมเปียกปูน ซ่าหริ่ม ขนมตะโก้ ฯลฯ
5.  ขนมประเภทอบและผิง เช่น ขนมดอกลำดวน ขนมบ้าบิ่น ขนมหน้านวล ฯลฯ
6.  ขนมประเภททอด เช่น ขนมกง ขนมฝักบัว ขนมสามเกลอ ฯลฯ
7.  ขนมประเภทปิ้ง เช่น ข้าวเหนียวปิ้ง ขนมจาก ฯลฯ 
8.  ขนมประเภทเชื่อม เช่น กล้วยเชื่อม สาเกเชื่อม ฯลฯ
9.  ขนมประเภทฉาบ เช่น เผือกฉาบ กล้วยฉาบ มันฉาบ ฯลฯ
10.  ขนมประเภทน้ำกะทิ เช่น เผือกน้ำกะทิ ลอดช่องน้ำกะทิ ฯลฯ
11.  ขนมประเภทน้ำเชื่อม เช่น ผลไม้ลอยแก้ว วุ้นน้ำเชื่อม ฯลฯ
12.  ขนมประเภทบวด เช่น กล้วยบวดชี แกงบวดเผือก ฯลฯ
13.  ขนมประเภทแช่อิ่ม เช่น มะม่วงแช่อิ่ม มะเขือเทศแช่อิ่ม กระท้อนแช่อิ่ม ฯลฯ

รายชื่อขนมไทย
1.  จ่ามงกุฎ
2.  ช่อม่วง
3.  ฝอยทอง
4.  ทองหยิบ
5.  ทองหยอด
6.  เสน่ห์จันทน์
7.  หันตรา
8.  เม็ดขนุน
9.  ลูกชุบ
10.  เบื้องไทย
11.  นมสาว
12.  ลืมกลืน
13.  กะละแม
14.  เรไร
15.  กระยาสารท
16.  กลีบลำดวน
17.  ข้าวตอกตั้ง
18.  พุทรากวน
19.  มะม่วงกวน
20.  หม้อแกง
21.  ข้าวต้มมัด
22.  เปียกปูนใบเตย
23.  บ้าบิ่น
24.  ข้าวเหนียวมูน
25.  ข้าวเหนียวแดง
26.  วุ้นกะทิ
27.  บัวลอย
28.  ปลากริมไข่เต่า
29.  ข้าวเหนียวถั่วดำ
30.  สังขยามะพร้าวอ่อน
              ฯลฯ

วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การจัดอาหารสำรับหวาน

การจัดอาหารสำรับหวาน
การจัดอาหารสำรับหวานเป็นการจัดขนมไทยเพื่อให้ดูสวยงามและน่ารับประทาน ซึ่งเหมาะสำหรับงานทำบุญตามประเพณี งานเลี้ยงในโอกาสพิเศษ และสำหรับถวายพระ
การจัดขนมไทย มีวิธีการดังต่อไปนี้
1.  ขนมที่ห่อด้วยใบตอง เช่น ขนมใส่ไส้ ข้าวต้มมัด ข้าวเหนียวสังขยา ควรแยกชนิดของขนม แล้วจัดเรียงใส่จานหรือถาดให้เป็นระเบียบและสวยงาม
2.  ขนมไทยที่มีน้ำ เช่น บัวลอย ทับทิมกรอบ ข้าวเหนียวถั่วดำ ควรจัดใส่ถ้วยที่มีลวดลายสวยงามหรือถ้วยแก้วใสก้นลึก มีจานรองเพื่อให้มองเห็นสีของขนมได้ชัดเจน
3.  ขนมไทยที่ใช้จัดเลี้ยงแขกจำนวนมาก ควรจัดวางเป็นกลุ่มในถาดกลมหรือถาดสี่เหลี่ยม

การจัดขนมไทยให้น่ารับประทาน

ขนมไทยที่นิยมใช้ในพิธีมงคล มี 9 อย่างดังนี้
1.  ขนมทองหยิบ มีลักษณะสวยงามเหมือนกลีบดอกไม้สีทอง หมายถึง ความมั่งคั่ง ร่ำรวย มีเงินมีทองใช้
2.  ขนมทองหยอด มีลักษณะเหมือนหยดน้ำสีทอง หมายถึง ความร่ำรวย มีเงินมีทองใช้จ่ายไม่รู้จักหมดสิ้น
3.  ขนมฝอยทอง มีลักษณะเป็นเส้น นิยมใช้ในงานมงคลสมรส มีความหมายให้คู่บ่าวสาวได้ครองชีวิตคู่ยืนยาวตลอดไป

ขนมไทยที่นิยมใช้ในพิธีมงคล

4.  ขนมทองเอก มีลักษณะสวยงามและโดดเด่น ใช้แทนคำอวยพรที่แสดงถึงความเป็นที่หนึ่ง ไม่เป็นรองใคร
5.  ขนมเม็ดขนุน มีสีเหลืองทอง รูปร่างคล้ายเม็ดขนุน หมายถึง ให้มีคนสนับสนุนในการดำเนินชีวิตและการทำงาน
6.  ขนมจ่ามงกุฎ มีลักษณะคล้ายมงกุฎ หมายถึง ความมีเกียรติและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
7.  ขนมเสน่ห์จันทน์ มีลักษณะคล้ายผลจันทน์ มีกลิ่นหอม หมายถึง ความมีเสน่ห์ ทำให้มีคนหลง และมีคนรัก
8.  ขนมชั้น มีลักษณะเป็นชั้น 9 ชั้น หมายถึง ความเจริญก้าวหน้า
9.  ขนมถ้วยฟู มีลักษณะเป็นแป้งฟู มีกลิ่นหอม หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง เฟื่องฟู

การจัดอาหารสำรับหวานในโอกาสต่างๆ เป็นการจัดขนมไทยในงานต่างๆ ดังต่อไปนี้
1.  งานมงคลสมรส นิยมใช้ขนมไทยที่มีชื่อและมีความหมายที่เป็นสิริมงคลสำหรับคู่บ่าวสาว เช่น ขนมทองหยิบ ขนมทองหยอด ขนมทองเอก ขนมเม็ดขนุน ขนมฝอยทอง ขนมถ้วยฟู ขนมเสน่ห์จันทน์ โดยแยกประเภท นำมาจัดเรียงใส่ถาดหรือพานที่รองด้วยใบตองเย็บเป็นกลีบดอกไม้
2.  งานทำบุญเลี้ยงพระ นิยมใช้ขนมไทยตระกูลทอง เช่น ขนมทองหยิบ ขนมทองหยอด ขนมทองเอก ขนมฝอยทอง ขนมชั้น ขนมถ้วยฟู โดยจัดเรียงวางในจานให้เหมาะสม  


     การจัดขนมไทยในงานต่างๆ ด้วยความสวยงาม

3.  งานเทศกาลสงกรานต์ นิยมใช้ขนมข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวแก้ว และกะละแม ตัดเป็นชิ้นพอคำ แล้วนำมาวางเรียงในจาน
4.  งานเทศกาลออกพรรษา นิยมใช้ขนมข้าวต้มมัดและข้าวต้มลูกโยน โดยจัดเรียงในถาดหรือจานให้สวยงาม หรือแกะใบตองออกแล้วนำขนมใส่จาน
5.  งานเทศกาลสารทไทยหรือสารทเดือนสิบ นิยมใช้ขนมกระยาสารท ขนมลา ขนมกง ขนมพอง ขนมสะบ้า โดยจัดใส่จานหรือถ้วยขนาดเล็ก
6.  พิธีบวงสรวงศาลพระภูมิ นิยมใช้ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ขนมเล็บมือนาง ขนมดอกจอก ขนมถั่วแปบ ขนมข้าวเหนียวแดง และขนมแกงบวดต่างๆ โดยใส่จานหรือถ้วยขนาดเล็ก จัดวางในถาด แล้วนำไปวางบนโต๊ะสำหรับบวงสรวงศาลพระภูมิ

การจัดอาหารประเภทสำรับ : การจัดอาหารสำรับคาว

                การจัดอาหารสำรับคาวและอาหารสำรับหวานมีวิธีการจัดแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับโอกาส โดยมุ่งเน้นความครบถ้วนของชุดอาหารเป็นสำคัญ

                การจัดอาหารสำรับคาว
                การจัดอาหารสำรับคาวเป็นการนำอาหารคาวที่ประกอบเสร็จแล้วมาจัดใส่ภาชนะให้ถูกต้องและเหมาะสมกับลักษณะของอาหาร
                หลักในการจัดอาหารสำรับคาว ควรพิจารณาองค์ประกอบต่อไปนี้
                1.  ขนาดและสัดส่วน โดยจัดอาหารให้มีขนาดและสัดส่วนเหมาะสมกับภาชนะ เช่น ภาชนะขนาดเล็กควรจัดอาหารให้มีปริมาณพอดี ไม่ล้นออกนอกภาชนะ ถ้าเป็นโต๊ะอาหารขนาดเล็ก ภาชนะที่ใช้ควรมีสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่มีขนาดใหญ่จนแน่นโต๊ะอาหารหรือขนาดเล็กจนตักอาหารไม่ถนัด               
                2.  ความกลมกลืน โดยจัดอาหารให้กลมกลืนกับภาชนะ เช่น อาหารประเภททอดควรจัดใส่จาน อาหารประเภทน้ำควรจัดใส่ชาม อาหารภาคเหนือควรจัดแบบขันโตก อาหารภาคกลางควรจัดใส่จานที่ดูสวยงาม สะอาด หรือมีลวดลายแบบไทย นอกจากนี้ผลไม้ควรจัดใส่ตะกร้าหรือถาดไม้

การตกแต่งอาหารให้น่ารับประทาน

                3.  เอกภาพ โดยการรวมกลุ่มการจัดโต๊ะอาหาร เช่น การจัดจาน ช้อน ส้อม หรือชุดอาหารให้เข้าชุดกัน สำหรับการจัดอาหารในจานควรจัดให้พอเหมาะ ไม่แผ่กระจายซึ่งยากต่อการรับประทาน
                4.  การซ้ำ โดยทำในลักษณะเดิม ซึ่งเป็นการตกแต่งอาหารหรือภาชนะในลักษณะซ้ำกันแบบเดิม เช่น การวางแตงกวาเรียงรอบขอบจาน เพื่อเน้นการจัดอาหารให้น่ารับประทาน
                5.  จังหวะ โดยจัดจังหวะในการตกแต่งอาหาร การจัดโต๊ะอาหารหรือการจัดตกแต่งอาหารในภาชนะ เช่น การวางแตงกวาสลับกับมะเขือเทศเรียงรอบขอบจาน การจัดวางแจกันดอกไม้หรือเชิงเทียนบนโต๊ะอาหาร
6.  การเน้น โดยเน้นการตกแต่งบรรยากาศบริเวณที่รับประทานอาหาร และเน้นสีสันในการตกแต่งอาหาร เช่น การจัดดอกไม้เพื่อสร้างบรรยากาศบนโต๊ะอาหาร การแกะสลักผักและผลไม้
7.  ความสมดุล โดยจัดอาหารหรือโต๊ะอาหารให้มีความสมดุล ช่วยให้พื้นที่ที่จัดมีน้ำหนักในการจัดวางอย่างลงตัว ไม่หนาแน่น หยิบใช้สอยได้ง่าย และดูสวยงาม เช่น การจัดอาหารในงานเลี้ยง พื้นที่ที่จัดไม่ควรอยู่รวมกัน เพราะจะทำให้เกิดความหนาแน่น ควรกระจายให้เกิดความสมดุล โต๊ะวางอาหารควรจัดอยู่ในบริเวณพื้นที่กว้าง เพื่อสะดวกในการตักอาหาร ขนมหวานหรือผลไม้ควรแยกออกไปวางอีกบริเวณหนึ่ง เพื่อสร้างความสมดุล นอกจากนี้การจัดอาหารในจานควรคำนึงถึงความสมดุล เพราะจะทำให้อาหารดูน่ารับประทาน
8.  การตัดกัน โดยเน้นการตัดกันระหว่างการตกแต่งอาหารหรือโต๊ะอาหาร การจัดอาหารและสีของอาหาร แต่ไม่ควรจัดให้ตัดกันในปริมาณมากเกินไป เพราะจะทำให้ขาดความน่าสนใจสำหรับสีที่ใช้ในการตกแต่งอาหาร ควรเลือกใช้สีจากธรรมชาติเพื่อความปลอดภัย เช่น สีเขียวจากใบเตย สีน้ำเงินหรือม่วงจากดอกอัญชัน สีเหลืองจากฟักทองหรือขมิ้น

วิธีการจัดอาหารสำรับคาว ทำได้ดังนี้
1.  อาหารประเภทแกง ควรจัดใส่ชามหรือถ้วยใหญ่ก้นลึก
2.  อาหารประเภทผัด ทอด ยำ ตำ หรือพล่า ควรจัดใส่จานกลมก้นลึกเล็กน้อย จานเปลหรือจานที่มีลวดลายสวยงาม
3.  อาหารประเภทเครื่องจิ้มหรือน้ำพริก ควรจัดใส่ถ้วยเล็กก้นลึก ขนาดพอเหมาะกับจานผักที่รับประทานคู่กัน หรือวางบนจานแบนใหญ่ที่มีผักสดหรือผักต้มวางเรียงโดยรอบ
4.  อาหารประเภทเครื่องเคียง ควรจัดใส่จานก้นแบนหรือใส่ถ้วยเล็กก้นลึก ตามลักษณะของเครื่องเคียงนั้นๆ

วิธีการตกแต่งอาหารสำรับคาว เป็นการทำให้อาหารน่ารับประทานมากยิ่งขึ้นด้วยวิธีต่างๆ คือ การแกะสลักผักและผลไม้หรือการนำผักที่มีสีและรูปทรงต่างๆ มาจัดวางในจานอาหาร การนำผักมาเป็นภาชนะใส่อาหาร การใช้สีที่สกัดได้จากผักมาเป็นส่วนผสมของอาหาร ทำให้มีสีสันสวยงาม และการจัดอาหารเป็นคำๆ เพื่อความสะดวกในการรับประทาน

การจัดอาหารสำรับคาวในโอกาสต่างๆ เป็นการจัดอาหารสำหรับงานเลี้ยงแบบไทย ได้แก่
1.  การจัดเลี้ยงแบบขันโตก เป็นการเลี้ยงอาหารร่วมกันหลายๆ คน แบบนั่งกับพื้นรวมกันเป็นวง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมและประเพณีของภาคเหนือ โดยใช้ขันโตกเป็นภาชนะสำหรับจัดอาหารสำรับ ซึ่งอาหารในขันโตกประกอบด้วยอาหารคาว เช่น ข้าวเหนียว ลาบ แกงอ่อม แกงฮังเล ไส้อั่ว แคบหมู น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง พร้อมผักจิ้ม และอาหารหวาน เช่น ข้าวแต๋น ขนมจ็อก ควรจัดอาหารใส่ถ้วยเล็กๆ วางไว้ในขันโตกจนครบ

การจัดเลี้ยงแบบขันโตก

2.  การจัดอาหารสำหรับพระสงฆ์ เป็นการจัดอาหารสำหรับพระสงฆ์ในงานพิธีหรืองานทำบุญต่างๆ โดยจัดเตรียมอาหารใส่ขันโตกเพื่อให้พระสงฆ์ฉันเฉพาะรูป หรือจัดเป็นโต๊ะอาหารเพื่อให้พระสงฆ์ฉันร่วมกัน อาหารที่นิยมนำมาจัดประกอบด้วยอาหารประเภทแกง เช่น แกงเผ็ด แกงจืด ต้มยำ อาหารประเภทยำ อาหารประเภทผัด ทอด อบ หรือย่าง น้ำพริก ข้าว ขนมหวาน และผลไม้ ควรหั่นหรือตัดอาหารให้พอดีคำเพื่อสะดวกในการฉันของพระสงฆ์
3.  การจัดเลี้ยงอาหารสำหรับแขก ได้แก่ การจัดแบบนั่งกับพื้นรวมกันเป็นวง โดยปูผ้าหรือเสื่อบนพื้น และการจัดแบบนั่งโต๊ะ โดยจัดอาหารคาวใส่ถ้วยและจานพร้อมกับช้อนกลางวางไว้กลางโต๊ะ แขกทุกคนจะมีจานข้าว ช้อนส้อม ผ้าเช็ดมือ แก้วน้ำประจำตัว ส่วนโถข้าวและเหยือกน้ำใช้ร่วมกัน เมื่อรับประทานอาหารคาวเสร็จจึงจัดอาหารหวานมาให้รับประทานต่อไป